จุฬาทุ่ม 6 พันล้านผุดโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส ดึงเอกชนบูมสมาร์ทซิตี้ 291 ไร่สามย่าน-พระราม4

06 เม.ย. 2563 433 0

           ทรัพย์สินจุฬาฯ ทุ่ม 6 พันล้าน เนรมิตที่ดินเชิงพาณิชย์ 291 ไร่ ทำเลสวนหลวง-สามย่าน เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ ประเดิม ก.ค.นี้แกรนด์โอเพนนิ่ง “ครีเอทีฟ สตาร์ตอัพ วิลเลจ” ปลายปีอวดโฉม “สยามสเคป” ศูนย์การเรียนรู้กลางสยาม ลุยประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างมิกซ์ยูส มูลค่า 3 พันล้าน ผุดคอนโดมิเนียมให้เช่า สำนักงาน รีเทล จีบบิ๊กอสังหาฯ ร่วม PPP ที่ดินบล็อก 29 หัวมุมพระราม 4 บรรทัดทอง เนื้อที่ 16 ไร่ สร้างเมืองนวัตกรรม

          รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาที่ดิน 20 ปี ตั้งแต่ 2560-2580 ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ 291 ไร่ บริเวณสามย่าน-สวนหลวง อยู่ถนนบรรทัดทองและถนนพระราม 4 ปัจจุบันมีสภาพพื้นที่เป็นอาคารพาณิชย์เก่า ให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการสร้างทางเชื่อมแต่ละอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย

          ลงทุนเอง-ดึงเอกชนร่วม PPP

          โดยการพัฒนาจะทยอยลงทุนแต่ละพื้นที่ ทั้งจากการนำรายได้ที่มีอยู่เฉลี่ย 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี มาลงทุนเองและเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูล PPP สัญญาเช่าระยะยาว ให้สอดรับกับสภาพพื้นที่และเทรนด์ธุรกิจ เช่น ย่านพระราม 4 จะเป็นย่านธุรกิจ ซึ่งในพื้นที่มีการพัฒนาสำนักงานให้เช่าจำนวนมาก อาจจะต้องทบทวนโมเดลใหม่ เป็นต้น

          “ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำสวนอุทยาน 100 ปี เนื้อที่ 29 ไร่ โครงการ Stadium One โครงการมิกซ์ยูสสามย่านมิตรทาวน์ ลงทุนระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย เราเปิดให้เอกชนมาร่วม PPP ได้บริษัททีมกรุ๊ปมาดำเนินการให้ 10 ปี ปัจจุบันมีที่ดินและอาคารพาณิชย์หมดสัญญาและถูกปล่อยร้างไว้ในย่านถนนบรรทัดทอง มีแผนจะนำมาพัฒนาโครงการสร้างรายได้” รศ.ดร.วิศณุกล่าวและว่า

          ก.ค.เปิด สตาร์ตอัพ วิลเลจ

          แผนการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ อยู่ระหว่างพัฒนาที่ดินบล็อกที่ 28 บริเวณจุฬาฯ ซอย 9 ติดสถานีดับเพลิง พื้นที่ 8 ไร่ เป็นตึกร้าง พัฒนาเป็นโครงการ “ครีเอทีฟ สตาร์ตอัพ วิลเลจ” ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท รองรับลูกค้ากลุ่ม สตาร์ตอัพ กลุ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรม เป็นอาคารสูง 3 ชั้น จำนวน 5 อาคาร มีพื้นที่อาคารละ 3,000 ตารางเมตร รวมทั้งโครงการประมาณ 15,000 ตารางเมตร ชั้นล่างเป็นรีเทล ร้านค้าและบริการ ชั้น 2-3 เป็นสำนักงาน กำหนดสัญญาเช่า 3 ปี ปัจจุบันมีคนจองพื้นที่เช่าแล้ว 80% คาดสร้างเสร็จและเปิดซอฟต์โอเพนนิ่งได้ก่อนเดือน ก.ค. 2563

          “ตอนนี้ร้านค้าที่จองพื้นที่มี Texas Chicken ของ ปตท. ร้านอาหารครัวดอกไม้ขาว ร้านเมธาวลัยศรแดง มินิมาร์ท เลมอนฟาร์ม ร้านกาแฟ Street เป็นต้น ส่วนออฟฟิศสตาร์ตอัพ มี “เมติคูลี่” แพลตฟอร์มนวัตกรรมทางการแพทย์ สปินออฟจากรั้วจุฬาฯ โดยนักวิจัยผู้คิดค้นกระดูกเทียมไทเทเนียมและเทคนิคการพิมพ์สามมิติ “ฟินโนมีนา” เป็นต้น”

          ทุ่มผุดศูนย์เรียนรู้-ที่อยู่อาศัย

          รศ.ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเตรียมนำพื้นที่ย่านสยามสแควร์ ตรงข้ามกับศูนย์การค้ามาบุญครอง เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ลงทุน 2,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการ “สยามสเคป” (Siam Scape) เป็นอาคารมิกซ์ยูส ศูนย์การเรียนรู้ มีพื้นที่รวม 29,795 ตารางเมตร ประกอบด้วย โรงเรียนกวดวิชา ร้านค้า สำนักงาน และที่จอดรถ 700 คัน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จปลายปีนี้

          “เรากำลังเปิดประมูล e-Bidding ที่ดินบล็อก 33 โซน C ใกล้ตลาดสามย่าน ติดอุทยาน 100 ปี ในจุฬาฯซอย 9 พัฒนาเป็นมิกซ์ยูส มูลค่า 3,389 ล้านบาท จุฬาฯจะลงทุนเองพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส”

          โดยภายในโครงการ ประกอบด้วย ที่พักอาศัย 2 อาคาร มีคอนโดมิเนียมสูง 41 ชั้น จำนวน 831 ยูนิต และหอพักนิสิตสูง 34 ชั้น จำนวน 972 ยูนิต และอาคารเชิงพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น พื้นที่ 29,000 ตารางเมตร อยู่บริเวณด้านหน้าเป็นพื้นที่รีเทลและสำนักงาน จะรองรับทั้งนักศึกษาและบุคคลภายนอก ขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือน พ.ค. และได้รับอนุมัติ EIA ในปีนี้ จะสร้างเสร็จภายในปี 2565

          จีบอสังหาฯสร้างเมืองนวัตกรรม

          รศ.ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะนำที่ดินบล็อก 29 โซน B ประมาณ 16 ไร่ อยู่หัวมุมถนนบรรทัดทองตัดกับถนนพระราม 4 เปิดประมูล PPP ให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนพัฒนาเป็น “เมืองนวัตกรรม” ขณะนี้กำลังซาวเสียง ดีเวลอปเปอร์ด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อวางคอนเซ็ปต์การพัฒนาโครงการ เช่น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ในเบื้องต้นน่าจะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ยังไม่มีข้อสรุป ที่ตกผลึก เนื่องจากเป็นโครงการ ขนาดใหญ่ ต้องดูความต้องการของตลาดด้วย

          “ทางอนันดาฯสนใจเรื่องการสนับสนุน สตาร์ตอัพ แต่เราก็คุยกับพันธมิตรทั่วโลก โจทย์คืออยากให้บริษัทที่ทำนวัตกรรมมาอยู่ร่วมกันให้หมด จึงเชิญทุกรายที่สนใจทั้งไทยและต่างชาติ ยังไม่ตกผลึก เป็นโครงการใหญ่ จะคิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความมั่นใจในการลงทุน ต้องรู้ตลาด และกลุ่มลูกค้า ที่สำคัญต้องเปิด PPP เพราะเราเป็นหน่วยงานรัฐ จะให้รายใดรายหนึ่งคงไม่ได้”

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย