เคาะเงินกู้เยียวยาล็อตแรก 9.2หมื่นล้านฟื้นศก.-สังคม

09 ก.ค. 2563 660 0

            ทำเนียบฯ * ครม.ไฟเขียวเงินกู้โควิดล็อตแรก 9.2 หมื่นล้าน ดัน 186 โครงการนำร่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคม นายกฯ ชี้เน้นจ้างงาน-เกษตรก่อน วอนคนมีเงินช่วยท่องเที่ยวใช้จ่าย ขณะที่ “สมคิด” เผยญี่ปุ่นยังปักหลักลงทุนในไทย ห่วงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังทุกประเทศยังต้องเจอพายุ

          เมื่อวันพุธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้อนุมัตินำเสนอหลักการโครงการในระยะที่ 1 ในเรื่องของการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งระยะแรกจะเน้นหนักด้านการเกษตรก่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ในส่วนนักธุรกิจ เอสเอ็มอี เป็นอีกเรื่องที่จะทยอยมีมาตรการออกมาตามลำดับ ในการเข้าถึง แหล่งเงินทุน รัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสมด้วยความร่วมมือของธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนกลไกของรัฐ หรือกลไกต่างๆ กองทุนต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม ในการที่จะให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงนี้

          “ทั้งนี้ ได้แบ่งโครงการเป็นหลายระยะ วันนี้ ครม.อนุมัติโครงการระยะแรกก่อน วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ในการฟื้นฟู ส่วนระยะที่ 2 ก็ต้อง เตรียมการที่จะนำมาอนุมัติใน ครม.ต่อไป สิ่งสำคัญสุดคือต้องทำให้เกิดการจ้างงาน เนื่องจากบางธุรกิจไม่สามารถประกอบกิจการได้ สินค้าส่งออกไม่ได้ เพราะความต้องการจากต่างประเทศลดลง เป็นเรื่องของห่วงโซ่การตลาด และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งวันนี้ได้มีการเร่งรัดการส่งออกผลไม้ ทั้งทางบก ทางเรือ และมีการพัฒนาเรื่องด่านให้สามารถดำเนินการเรื่องการขนส่งได้ โดยได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน และทราบจากกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นไปได้ด้วยดี” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

          นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับกลไกให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น วันนี้ทราบว่าการท่องเที่ยวในประเทศหลังหยุดยาวที่ผ่านมา ได้มีการประเมินว่ามีการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ มากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก็จะดีขึ้นตามลำดับ จากมาตรการผ่อนคลายป้องกันโควิด-19 ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 ของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องมีระยะต่อไป สำหรับเรื่องการท่องเที่ยวก็ขอให้ช่วยกันใช้จ่ายบ้างสำหรับผู้ที่มีเงิน ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินขอให้เก็บหอมรอมริบ

          นายกฯ กล่าวว่า สำหรับเรื่องของเอสเอ็มอีและซอฟต์โลน รัฐบาลก็จำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงในเรื่องของแหล่งเงินทุน ซึ่งต้องมีการระมัดระวังการใช้จ่าย ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในอนาคตด้วย รัฐบาลต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทุกคนก็ทราบดีถ้ากู้ไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ เราก็จำเป็นต้องดูแลเขา แต่จะดูแลได้เท่าไหร่ เพียงใด อย่างไร รัฐบาลก็ไม่เคยทอดทิ้ง

          “ทั้งนี้ ในเรื่องของงบฟื้นฟูระยะแรกไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 มีอีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้กำลังดำเนินการในส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน และทยอยดำเนินการในระยะต่อไป โดยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมถึงต้องระมัดระวังการตรวจสอบจากภาคประชาชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องกวดขันเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้” นายกรัฐมนตรีระบุ

          ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งได้มีการพิจารณากลั่นกรองโครงการภายใต้แผนหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการอนุมัติครั้งนี้เป็นรอบที่ 1 จำนวน 186 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้นประมาณ 92,400 ล้านบาท

          น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า โดยมีกระทรวงหลักๆ ที่ได้เงินไปทำโครงการคือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)

          รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ ยังได้อนุมัติโครงการเพิ่มเติมจากเดิมที่อนุมัติโครงการไปแล้วก้อนแรก 22,400 ล้านบาท เพื่อไปทำโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว คือ เราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ โดยในการประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบโครงการเพิ่มเติมอีก 5 โครงการ วงเงิน 15,520 ล้านบาท คือ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มทฤษฎีใหม่ 9,805 ล้านบาท, โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล 4,787 ล้านบาท, โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน 169 ล้านบาท, โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 15 ล้านบาท และโครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า 751 ล้านบาท

          วันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังนายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) เข้าพบว่า ญี่ปุ่นยังมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยอยู่ ซึ่งสิ่งที่ทางเจโทรบอกคือ ตัวเลขในการจัดการโควิด-19 ที่ดีของประเทศไทย มาตรการเรื่องภาษี ที่ช่วยนักธุรกิจ เราทำได้เร็ว ทำให้ญี่ปุ่นพอใจ และกล่าวชมเชยมา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายประเทศต่างประสบปัญหาทั้งสิ้น ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังเกือบทุกประเทศคงจะเจอพายุพอสมควร หากเราช่วยกันน่าจะผ่านพ้นไปได้หลังจากปลายปีนี้

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย