แบงก์ชาติแนะไทยตั้งรับความเสี่ยงใหม่

06 พ.ย. 2566 200 0

 

          อย่าชะล่าใจ-เศรษฐกิจยังติดกับดัก-ปีหน้าผันผวนต่อ    

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Towards a more resilient future ปรับโหมดนโยบายเศรษฐกิจการเงินสู่ความยั่งยืน” ในงานสัมมนา THAILAND NEXT MOVE 2024 The Next Wealth and Sustainability เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ว่า เศรษฐกิจไทยจะมั่งคั่งและยั่งยืนได้ ต้องมี resilience ซึ่งไม่ใช่แค่เสถียรภาพ (stability) แต่ยังหมายถึงความทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกได้เร็ว ถือเป็นเรื่องจำเป็น

          เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนไปชัดเจน ความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงที่เราคุ้นเคย เช่น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้คาดการณ์ลำบาก สำหรับประเทศไทยตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวสะท้อนว่าเสถียรภาพ ค่อนข้างโอเค โดยเฉพาะมิติด้านต่างประเทศ อาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี โอกาส ที่จะเกิดวิกฤตต่ำ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือน ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 91% ต่อจีดีพี เป็นมิติที่ยังมีปัญหา ต้องจับตาและใส่ใจ สำหรับมิติ ในฝั่งการคลัง ตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี แม้ว่าหลายประเทศ จะสูงกว่าไทย แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต้องใส่ใจ จะชะล่าใจไม่ได้

          น.ส.นฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปี 2567 สิ่งที่ภาคธุรกิจของไทยจะต้องตั้งรับคือ การบริหารจัดการความผันผวน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ มีผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น เพราะหากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแรงๆ จนมีผลให้ธุรกิจไม่สามารถที่จะมีเกราะป้องกันแรงกระแทกที่เกิดขึ้นนี้ได้ จะกระทบความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแน่นอน

          นอกจากนี้ในแง่ของต้นทุนทางการเงินที่ดีดสูงขึ้นทั้งจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมไปถึงต้นทุนค่าแรงที่ปรับขึ้น และผนวกกับธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับการส่งออกอีก จะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเศรษฐกิจไทยติดกับดักการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2-4% นับตั้งแต่หลังปี 2553 ดังนั้นความท้าทาย คือ ต้องมองว่า วันนี้โลกที่มีการบริโภค กำลังมองไปทางทิศไหน และให้ความน่าเชื่อถือกับอะไร

          นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2567 เริ่มไม่ Sustain (ยั่งยืน) เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในแง่ของที่ดินตั้งแต่เกิดโควิดเป็นต้นมา ราคาที่ดินไม่ลดลงเลย และยังปรับขึ้นปีละ 6-7% ขณะเดียวกันค่าก่อสร้างปรับขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงปีนี้ยิ่งปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก ไม่เพียงเท่านั้นราคาวัสดุก่อสร้างก็สูงขึ้นด้วย ดังนั้นในปีหน้าไม่ว่าบ้านหรือคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มแพงขึ้นแน่นอน

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย