อสังหาฯไทยแข่งรักษ์โลก รุกพลังงานสะอาดเจาะเทรนด์ผู้บริโภคลดคาร์บอน

05 เม.ย. 2566 140 0

          “พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ” นาทีนี้ กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่มาแรงมากที่สุด ในปี 2566 สำหรับอุตสาหกรรมอสังหา ริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะ “ตลาดที่อยู่อาศัย” ที่เป็นทั้งสิ่งจำเป็นและมาตรฐานใหม่(New Standard) ในการพัฒนาโปรดักส์เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากผลสำรวจระดับโลก ชี้ชัดว่า คนยุคนี้ จะให้ความสำคัญกับโปรดักส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ช่วยประหยัดพลังงาน-ค่าใช้จ่าย มากขึ้น

          ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมของไทย อยู่ภายใต้เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ แก้วิกฤติโลกร้อน ตามพันธกิจ Carbon Neutrality (สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน) ในปี 2050  และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 นี่จึงทำให้เห็นการขยับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้อย่างน่าจับตามองไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งโครงการบ้าน และ โครงการขนาดใหญ่ ที่ถูกมองว่า เป็นอีกหนึ่งต้นตอการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการก่อสร้างที่ยาวนาน



          แสนสิริ ติด “โซลาร์ แบตเตอรี่” รายแรก

          จับแผนเดินหน้าของผู้เล่นรายสำคัญ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งเป้าจะเป็นบริษัทอสังหาฯรายแรกของไทยมู่งสู่ Net-Zero ภายในปี 2050 พบปีนี้ นอกจากประกาศจะติดตั้งแผงโซลาร์ในโครงการที่อยู่อาศัย 100% ทุกเซ็กเมนท์ รวม 1,200 หลัง รวมถึงส่วนกลางและโครงการคอนโดมิเนียม อีกทั้งพัฒนาโรงงานพรีคาสต์สีเขียวเต็มรูปแบบแล้ว

          ล่าสุดแสนสิริ ระบุว่ายังได้รุกเดินหน้าติดตั้ง “โซลาร์ แบตเตอรี่” ที่คลับเฮาส์โครงการ เพื่อหนุนใช้พลังงานสะอาดที่ผลิตได้ระหว่างวัน แต่ที่น่าจับตามอง คือ จะนำร่องติดตั้งแบตเตอรี่ดังกล่าว ในโครงการบ้านเดี่ยว แบรนด์เศรษฐสิริ ในปีนี้ 10 โครงการ เพื่อหนุนลูกบ้านลดการพึ่งพาการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วยประหยัดค่าไฟ รวมทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 100 ตันคาร์บอน ชูเป็นโมเดลมาตรฐานในโครงการทุกรูปแบบ ทุกเซ็กเม้นท์  ขณะเดียวกันยังแจ้งว่า เตรียมจับมือธนาคารชั้นนำ เปิดสินเชื่อโซล่าร์ สำหรับที่อยู่อาศัยกับดอกเบี้ยเรทพิเศษ เพื่อรองรับดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

          เสนา ใช้พลังงานสะอาด รุก Smart City

          เช่นเดียว กับ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ปรับธุรกิจ รับเมกะเทรนด์ ลดการปล่อยคาร์บอน เป็นมิตรต่อโลก สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยเจาะแผนธุรกิจปี 2566 พบ เสนา กำลังเชื่อมเครือข่ายธุรกิจ สนับสนุนการขายบ้านแบบรักษ์โลก สร้างเมืองอัจริยะ (Smart City) ซึ่งผู้บริหารคนสำคัญ นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ เผยว่า อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งสถานีชาร์ตรถไฟฟ้า หรือ EV CHARGING STATION  เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ของลูกบ้านในโครงการ และลูกค้าทั่วไปในอนาคต อีกทั้ง ยังจับมือกับพาร์ทเนอร์ ชิเซ็น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เพื่อลงทุนขยายตลาดพลังงานหมุนเวียน และ มองหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ในการติดตั้ง “โซลาร์แนวตั้ง” สำหรับอาคารสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในโครงการอสังหาฯ

          เพอร์เฟค กับแนวคิด “Green Neighbor”

          ด้าน บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ก็กำลังเดินหน้า ยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิด Green Neighbor เน้นการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเลือกวัสดุก่อสร้าง และนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต

          ซึ่งเพอร์เฟค โดย นายวสันต์ ศรีรัตนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ เผยว่า ที่ผ่านมาบริษัท เน้นกระเบื้องหลังคาคอนกรีต คอนกรีตบล็อกประสานปูพื้น รั้วคอนกรีต จากวัสดุรีไซเคิล ทำให้สามรถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหิน ทราย และซีเมนต์ ได้  1,004 ตัน ,โครงหลังคาสำเร็จรูป ทำให้ลดการใช้เหล็กได้ 58 ตัน , กระเบื้องปูพื้นและบุผนังเซรามิก กระเบื้องโมเสก ช่วยลดการใช้น้ำในขั้นตอนการผลิตได้ 80,371 ลิตร , สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำประหยัดน้ำ ลดการใช้น้ำในครัวเรือนได้ 22,148,930 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 94,133 บาท, นวัตกรรม SCG Active AIRflow ลดการใช้ไฟฟ้าจากการเปิดเครื่องปรับอากาศลงได้อย่างน้อย 10% และ หลังคาร ตะบบโซลาร์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 700-1,900 บาทต่อหลังคาเรือน ทั้งหมดนี้จะช่วยลูกบ้านและประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคตได้เร็วขึ้น

          ผู้บริโภคเลือก “วัสดุก่อสร้าง” ลดคาร์บอน

          สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง โดย  บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด เผยว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภค และ ผู้พัฒนาโครงการ ตระหนักถึงการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ล่าสุด บริษัท จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบา G4 SMART BLOCK ผลิตภัณฑ์คุณสมบัติพิเศษ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตีตราเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา ปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ ผู้บริโภคตระหนักถึงการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

          โครงการใหญ่ท้าทาย มาตรฐาน “รักษ์โลก”

          ขณะ นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น  บริษัทวิจัยในเครือ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ สะท้อนในส่วนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ประเภท Mixed-Use ที่มีทั้งโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก เข้าไว้ในพื้นที่เดียวกัน ว่า มีความท้าทายในเรื่องดังกล่าวสูงกว่าโครงการทั่วๆไป โดยพบข้อมูลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว ผู้พัฒนาต้องนำมาตรฐานการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ที่อยู่อาศัยและใช้งานในพื้นที่โครงการดังกล่าวด้วย

          สำหรับในประเทศไทยนั้น ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ โครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) พระราม 4  เพราะถูกพัฒนาภายใต้มาตรฐาน LEED-ND (มาตรฐานอาคารสีเขียวใหม่) ขององค์กรระดับโลกซึ่งนับโครงการแรกในประเทศไทยที่ใช้มาตรฐานนี้ พบโครงการถูกออกแบบให้พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่ง ทั้งยังมีแนวคิดสู่ความยั่งยืน อาทิ แนวคิดเรื่องเมืองเดินได้, ระบบป้องกันน้ำท่วม, ลดปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นที่เกิดจากการใช้งานอาคาร เป็นต้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย