บิ๊กอสังหาฯ แห่เปิดโครงการใหม่ ลงทุนดุเดือดกว่าแสนล้านรับตลาดขาขึ้น

14 มี.ค. 2566 170 0

 

          แม้ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดี หลายธุรกิจเริ่มขยับตัว ถึงแม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านต่างๆ ทำให้มีทั้งโอกาสทางธุรกิจและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แนวโน้มราคาพลังงานและราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็มีปัจจัยบวกในเรื่องการท่องเที่ยวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เห็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์บิ๊กเนมต่างประกาศเปิดตัวโครงการใหม่กันแบบดุเดือด

          ซึ่ง วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ ฉายภาพถึงธุรกิจอสังหาฯ ถ้าดูจากกราฟการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีที่ผ่านมาที่เริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้น ปี 2565 บริษัทเปิดตัวไป 51 โครงการ มูลค่ารวม 63,600 ล้านบาท ทำยอดขาย 50,415 ล้านบาท และคาดว่าจะปิดยอดโอนที่ 48,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดและสูงกว่าช่วงปี 2562 (ก่อนโควิด-19) จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ถึงภาพตลาดที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา จึงมั่นใจว่าตลาดอสังหาฯ ปีนี้น่าจะสดใสและขับเคลื่อนไปต่อ

          ปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2566 ก็คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ที่ผ่านมามีการเจริญเติบโตในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียมและธุรกิจบ้านเดี่ยวที่มีการเปิดตัวมากก่อนช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นในปี 2566 เอพีวางเป้าหมายจะทำสถิติเติบโตต่อเนื่องในทุกด้าน โดยวางเป้าหมายเปิดตัว 58 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 77,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21% YoY) เป้าหมายยอดขาย 58,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15% YoY) เป้ารายได้รวม 100% (JV) ที่ 57,500 ล้านบาท

          ด้าน “ศุภาลัย” นับเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่ทำกำไรสูงสุดมาต่อเนื่อง และเป็นบริษัทครบเครื่องทั้งบ้าน ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมก้าวที่ยิ่งใหญ่สู่ปี 34 ประกาศผุด 37 โครงการ มูลค่า 4.1 หมื่นล้านบาท มากที่สุดทั้งจำนวนและมูลค่าตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย ประเมินปัจจัยบวก ปัจจัยลบ ในปี 2566 เศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องถึง 3-4% ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศดีขึ้น และกำลังซื้อจากต่างชาติจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะคนจีน ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศในภาคบริการและการท่องเที่ยวนำร่อง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้เป็นปีที่ดี แม้จะมีเรื่องภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

          แต่ถึงกระนั้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ทำให้ความเสี่ยงลดลง ศุภาลัย จะมีการต่อยอดขยายธุรกิจไปในหลากหลายมิติ พร้อมทั้งขยายโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รองรับดีมานด์ที่กลับเข้ามา โดยมีระดับราคาตั้งแต่ 2-20 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งในปี 2566 มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 37 โครงการ มูลค่ารวม 41,000 ล้านบาท

          พร้อมเตรียมบุกหนักเปิดโครงการในจังหวัดใหม่ๆ ที่มีทำเลศักยภาพและมีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันศุภาลัยนับเป็นเจ้าตลาดที่การพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดมากที่สุด ครอบคลุม 28 จังหวัด และในปี 2566 จะพัฒนาโครงการใหม่ในอีก 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน นครปฐม ราชบุรี และจันทบุรี เน้นพัฒนาแนวราบระดับ 10-30 ล้านบาทมากขึ้น

          เช่นเดียวกับ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ โดย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ ระบุว่า ในปี 2566 เสนาเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 26 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 24,024 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 9 โครงการ 7,471 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 17 โครงการ 16,553 ล้านบาท (ซึ่งใน 26 โครงการแบ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป 22 โครงการ 21,210 ล้านบาท) ตอกย้ำพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง 8 ปี ร่วมกันพัฒนาโครงการรวม 45 โครงการ มูลค่า 69,554 ล้านบาท ทั้งนี้วางเป้าหมายสร้างนิวเรคคอร์ดครั้งใหม่ของบริษัท ด้วยเป้ายอดขาย 18,242 ล้านบาท และเป้าโอนรวม 16,539 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่เหลือขาย คิดเป็นมูลค่า 22,294 ล้านบาท เพื่อรอรับรู้รายได้ในอนาคต รวมถึงยังได้วางงบเพื่อการลงทุนในการพัฒนาสินค้าและขยายโอกาสสู่ธุรกิจใหม่ 9,084 ล้านบาท

          ด้าน ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) กล่าวว่า แผนในระยะ 5 ปี (2566-2570) ตั้งเป้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนเฉลี่ยปีละ 25,000 ล้านบาท และกระจายไปในสองกลุ่มธุรกิจทั้งการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยและการลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ เช่น ธุรกิจให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน และธุรกิจโรงแรม แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงและแนวราบ 80% และอีก 20% เป็นการลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (recurring income) เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่อง 5 ปีมีรายได้รวมกันกว่า 150,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนกำไรมากกว่า 20% ต่อปี

          ขณะที่ บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI  เตรียมเปิดตัว 52 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 75,000 ล้าน ซึ่ง อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ SIRI กล่าวว่า ในปีนี้แสนสิริฯ จะรุกขยายธุรกิจเต็มสูบ สนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม โดยวางแผนเปิดตัว 52 โครงการใหม่ มูลค่ารวมสูงถึง 75,000 ล้านบาท ซึ่งจะนับเป็นการเปิดโครงการใหม่มูลค่ารวมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เติบโตขึ้นจากปีก่อน 74% และโตขึ้นจากช่วงเกิดโควิดถึง 1,000% หรือ 10 เท่าตัว ครอบคลุมทุกโปรดักต์ ทั้งคอนโดมิเนียม-บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด-ทาวน์โฮม ทุกเซ็กเมนต์ระดับราคา รองรับทุกความต้องการ และครอบคลุมในทุกทำเล เจาะกลุ่มเรียลดีมานด์มากกว่าปี 2565 ที่เปิดตัว 46 โครงการ มูลค่า 50,000 ล้านบาท แต่สามารถเปิดตัวได้ 39 โครงการ มูลค่า 43,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 27 โครงการ และคอนโดมิเนียม 12 โครงการ โดย 7 โครงการที่เหลือได้เลื่อนมาเปิดตัวในช่วงไตรมาส 1-2 ในปี 2566

          ส่วน ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า อนันดาฯ เดินหน้าภายใต้แนวคิด “Ananda Ride the Wave” เพื่อเตรียมรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามาของดีมานด์ต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่ยังมองไทยเป็นบ้านหลังที่สอง หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2566 จะมีการเปิดตัว 2 โครงการ มูลค่ารวม 14,600 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการ New Branded Residence บนทำเลสุขุมวิท 38 มูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท และ 2.ไอดีโอ พหล-สะพานควาย มูลค่าโครงการ 8,100 ล้านบาท หลังจากเลื่อนเปิดมา 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2562 พร้อมปรับดีไซน์ห้องชุดใหม่แบบ Hybrid New Series ราคาเริ่ม 1 แสนต้นๆ ต่อตารางเมตร

         ขณะที่ โอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุว่า ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.2566) ธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงขยายตัวนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดยมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 9% ซึ่งพบว่าช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 ความต้องการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยของผู้บริโภคในตลาดยังคงมีจำนวนมาก สะท้อนจากยอดสั่งสร้างบ้านที่เติบโต เพราะผู้บริโภครับรู้และเชื่อมั่นในบริการของบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น

          “เชื่อมั่นว่ากำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวอย่างชัดเจน ประเมินภาพรวมตลาดไตรมาส 2 จะขยายตัวต่อเนื่องรับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านบนที่ดินตัวเองเพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและในต่างจังหวัด ส่งผลให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 สามารถแตะระดับ 13,250 ล้านบาท เติบโต 6% จากปี 2565” นายโอฬารกล่าว

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย