อาคม ชี้ศก.ไทยโตช้าแต่มั่นคง หวังท่องเที่ยวดันอสังหาฯ ฟื้น

10 มี.ค. 2566 208 0

           นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจกับโอกาสภาค อสังหาฯ"ในงานสัมมนา Property Focus : Big Change to Future โอกาสและความท้าทาย จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยระบุทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปีที่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันผู้ประกอบการมีการลงทุนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยภาคธุรกิจอสังหาฯถือเป็นดัชนีที่ชี้วัดภาพรวม เศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวได้ดีหรือไม่

          สำหรับทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจไทยนั้น จะเห็นได้ว่า มีลักษณะการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ 3-4% โดยแม้ว่า ในปี 2565 อัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าคาดการณ์ หรือมีอัตราการขยายตัวที่ 2.6% แต่ถ้าเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัวเพียง 1.5% ถือว่า มีการเติบโต สอดคล้องกับความเห็นของไอเอ็มเอฟ ที่มองเศรษฐกิจอาเซียนเติบโตสวนทางกับประเทศขนาดใหญ่

          “เราไม่ห่วงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเรามีการเติบโตทีละสเต็ป ไม่ได้ตก แต่เติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งสำคัญกว่า เพราะเราเห็นบางประเทศ จีดีพี กระโดด 6-8% เช่น สหรัฐ แต่พอเจอโควิดอีกรอบ จีดีพีก็ลงเร็ว โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้น ก็สอดคล้องกับไอเอ็มเอฟที่มองเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นลักษณะสวนทาง Global ฉะนั้น เราจึงเป็น power house ของโลก ดังนั้น เราจึงต้องดึงดูดนักลงทุนให้ มากที่สุด และเชื่อว่า การลงทุนปีนี้ เริ่มขับเคลื่อนไปในการก่อสร้าง”

          เขาย้ำว่า เหตุผลที่เศรษฐกิจเราสามารถเติบโตได้ เพราะนโยบายภาครัฐที่เข้ามาดูแล โดยเฉพาะการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเข้ามาเยียวยาทุกภาคธุรกิจ และรวมถึง การออกมาตรการออกมาเพื่อดูแลลูกหนี้ และการเติมเงินเข้าไปในแต่ละภาคธุรกิจ ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีก็มีมติต่ออายุซอฟต์โลนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งมี วงเงินเหลือถึง 1.65 หมื่นล้านบาท ส่วน ภาคธุรกิจขนาดเล็กนั้น ทางธนาคาร ออมสินก็พร้อมที่จะช่วยเหลือด้านเงินทุน ซึ่งภาคธุรกิจโรงแรมก็สามารถเข้าไปใช้ สินเชื่อดังกล่าวได้

          ทั้งนี้ ภาคธุรกิจหลักที่จะเข้ามาขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค ซึ่งจะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจอสังหาฯ มีการเติบโตได้ต่อเนื่อง และจะช่วยทดแทนภาคธุรกิจส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสหรัฐกับจีน และ รวมถึง ยูเครนกับรัสเซีย เป็นต้น

          “การบริโภคใช้จ่ายในประเทศ ปีก่อน เพิ่ม 6% ปีนี้ ยังไปได้ เพราะคนกลับเข้าทำงานในระบบเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บางคนยังไม่กลับจากโควิด เพราะเขาเริ่มอาชีพใหม่และมีความสุขกับการอยู่ในต่างจังหวัด เพราะค่าครองชีพถูกกว่า จึงเกิดปัญหา เรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ที่เห็นได้ชัด การให้บริการต่างๆในสนามบินที่ยังล่าช้า แม้จะมีการเพิ่มค่าจ้าง แต่ก็ยังไม่พอ”

          นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2558 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนโฉมต่อการลงทุน ซึ่งรวมถึง การลงทุนด้านอสังหาฯ โดยการลงทุนด้านการคมนาคมที่เปลี่ยนโหมดการเดินทางจากรถยนต์มาเป็นรถรางในกรุงเทพมหานคร รวมทั้ง การเดินทางในต่างจังหวัดทั้ง รถไฟทางคู่ ความเร็วสูง และการลงทุน ในอีอีซีถือเป็นจุดที่ส่งเสริมการลงทุน ด้านอสังหาฯ ซึ่งทำให้เกิดการโยกย้าย ถิ่นฐานของประชาชนด้วย ทั้งนี้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย

          “ขณะนี้ ไทยได้มีการเจรจาธุรกิจดิจิทัล เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูล โดยจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล มีบริษัทรายใหญ่ในอเมริกาจะย้ายฐานเข้ามาที่ไทย นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ ก็มองไทย เพราะในช่วงโควิด ซัพพลายเชน ขาดไป”

          เขาแนะนำว่า การออกแบบโครงการอสังหาฯนับจากนี้ จะต้องรองรับในเรื่อง ของการพัฒนาดิจิทัล ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย แนวโน้มการย้ายถิ่นฐาน และรวมถึง ซัพพลายและดีมานด์ ซึ่งเรื่องของข้อมูลประกอบการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการสามารถหาได้จากภาครัฐ

          “การลงทุนอสังหาฯ จะต้องดูเรื่องซัพพลาย ดีมานด์ เปลี่ยนแปลงหรือไม่ และการโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อรถไฟฟ้าเกิดขึ้น การลงทุนคอนโดฯก็จะไปตามเส้นทาง แต่ตัวเลขที่ได้จากธอส.คือ สินเชื่อ 40% อยู่กทม. 60% อยู่ต่างจังหวัด เพราะส่วนหนึ่งค่าครองชีพถูก ไม่เผชิญค่าPM และการเดินทางสะดวก ยิ่งอยู่เส้นทางรถไฟเร็วสูงจะเป็นประโยชน์ จะเปลี่ยนพฤติกรรมโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ผ่านมาพบว่า คนย้ายบ้านข้ามภาคมีเยอะ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ผู้ประกอบการหาได้จากภาครัฐ”

          ทั้งนี้ นโยบายของภาครัฐยังให้การสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯทั้งเรื่องการลดค่าจดจำนอง และค่าธรรมเนียมการโอน โดยค่าธรรมเนียมการโอนแม้จะไม่ต่ำสุด แต่เราก็อยากให้ค่อยๆปรับตัว รวมถึง การผ่อนคลายเกณฑ์เรื่อง LTV และ การเพิ่มทางเลือกในการระดมทุน ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลและมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ออกโทเคนดิจิทัล ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการระดมทุนได้

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย