ศาลนัด7ก.ย.พิพากษาคดี'บีทีเอส' ทวง'หนี้เดินรถ'กทม.1.2หมื่นล้าน 

02 ก.ย. 2565 312 0

ศาลปกครองกลางแถลงปิดคดี “หนี้บีทีเอส” นัดอ่านคำพิพากษา 7 ก.ย.นี้ อัพเดตมูลหนี้พุ่ง 4 หมื่นล้านบาท เผยยังไม่ได้รับติดต่อ จาก กทม.เจรจาปัญหาหนี้ค้างจ่าย ขณะที่คดีล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติ มิชอบกลางนัด 27 ก.ย.นี้

          โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานครให้สัมปทานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้มี การพัฒนาส่วนต่อขยายถึงปัจจุบันคือ ช่วงอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งได้มีการจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย รวมถึงการวางระบบรถไฟฟ้าและ การซ่อมบำรุง

          สัญญาจ้าง BTS ดังกล่าวส่งผลให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมค้างชำระกับ  BTS รวม 40,000 ล้านบาท และเป็นวงเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมากรุงเทพธนาคมไม่ได้มีการชำระหนี้ในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มาตั้งแต่เปิดให้บริการ

          ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองในกรณีที่หน่วยงานรัฐผิดสัญญาทางปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และศาลปกครองกลางได้นัดแถลงปิดคดีวานนี้ (1 ก.ย.)

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางได้มีนัดแถลงปิดคดีหลังจากที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 โดยเป็นการฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) กรณีติดค้างหนี้ค่าจ้าง เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ เป็นจำนวนมูลหนี้รวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครอง กลางได้รับคำฟ้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงปิดคดีแล้ว ศาลปกครองกลางได้มีนัดอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 7 ก.ย.2565 โดยเบื้องต้นบริษัทฯ ยังไม่ได้ รับการติดต่อเจรจาจากทาง กทม.หรือกรุงเทพธนาคม ส่วนมูลหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น มีรวมแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ค่าจ้าง เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ที่เพิ่มขึ้น เป็นประมาณ 20,000 ล้านบาท และ 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท

          “มูลหนี้ที่ศาลจะพิจารณา จะเป็นมูลหนี้ ณ วันที่เรายื่นฟ้องไป ก็จะเป็นจำนวน 12,000 ล้านบาท ตอนนี้คงต้องรอฟังคำตัดสินตามกระบวนการศาลว่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากศาลตัดสินแล้ว มูลหนี้ที่เหลือก็คงจะมีทิศทางดำเนินการในลักษณะเดียวกัน”

          ไม่ได้รับติดต่อเคลียร์หนี้

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน BTSC ไม่ได้รับการติดต่อเพื่อเจรจาหรือหารือเกี่ยวกับภาระหนี้ ที่เกิดขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ไปหารือร่วมกับศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมคณะกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม ส่วนกรณีที่ กทม.จะดำเนินการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเดือน ก.ย.นี้ บริษัทฯ อยู่ในฐานะผู้รับจ้างเดินรถ ไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการประสานงานให้เตรียมจัดเก็บค่าโดยสาร

          นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า คดีศาลปกครองเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องถึงการยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น ขณะนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่ง นัดไต่สวนเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่บริษัทฯได้ยื่นฟ้อง ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง เกี่ยวกับการยกเลิกประมูลนั้น ศาลฯ ได้มีคำสั่งนัดอ่านคดีในวันที่ 27 ก.ย.นี้

          แจงที่มาหนี้1.2หมื่นล้าน

          แหล่งข่าว กล่าวว่า การแถลงปิดคดีครั้งนี้ได้มีการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาจ้างบริหารจัดการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย รวมถึงที่มาของภาระหนี้ที่เกินขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าและ การวางระบบ

          สำหรับภาระหนี้ของการเดินรถส่วนต่อขยายเริ่มจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัดได้จ้าง BTS เป็นผู้เดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า , ส่วนต่อ ขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสาร 15 บาท แบ่งเป็น

          1.ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า เปิดในวันที่ 14 ก.พ.2556 เปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีลมอย่างเป็นทางการจากสถานีวงเวียนใหญ่-สถานีตลาดพลู ส่วนวันที่ 5 ธ.ค.2556 เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลมจากสถานีตลาดพลู- สถานีบางหว้า

          2.ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดเมื่อวันที่ 12 ส.ค.2554 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีแบริ่ง

          ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดวันที่ 3 เม.ย.2560 โดยกรุงเทพธนาคม เก็บค่าโดยสารปกติ 15 บาท ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.2561 ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจาก สถานีสำโรงสถานีเคหะสมุทรปราการ โดยยังไม่มี การเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 4 ปี

          ในขณะที่การเปิดบริการช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ทยอยเปิดในวันที่ 9 ส.ค.2562 เปิดให้บริการจากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ส่วนวันที่ 5 มิ.ย.2563 เปิดให้บริการจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-สถานี วัดพระศรีมหาธาตุ และวันที่ 16 ธ.ค.2563 เปิดให้บริการจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-สถานีคูคต โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันรวม 3 ปี

         สัญญาจ้างเดินรถ4ฉบับ

          สำหรับสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและการซ่อมบำรุงมีสัญญาที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ คือ

          1.สัญญาจ้างบริหารจัดการระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อให้ดำเนินการส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสนามกีฬาฯ - บางหว้า และสายสุขุมวิทช่วงหมอชิต-สำโรง รวม 30 ปี (2555-2585)

          2.สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด กับ BTS เพื่อให้ดำเนินการส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสนามกีฬาฯ - บางหว้า และสายสุขุมวิทช่วงหมอชิต-สำโรง รวม 30 ปี (2555-2585)

          3.สัญญาจ้างบริหารจัดการ ระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อให้ดำเนินการส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงคูคต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว และช่วงสำโรง-สถานีเคหะสมุทรปราการ ระยะเวลา 30 ปี (2555-2585)

          4.สัญญาจ้างบริหารจัดการ ระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด กับ BTS เพื่อให้ดำเนินการส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงคูคต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว และช่วงสำโรง-สถานีเคหะสมุทรปราการ ระยะเวลา 30 ปี (2555-2585)

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย