อสังหา ปี65 ส่งสัญญาณฟื้นตัว ราคาขยับ-ลงทุนรอบนอกบูม

08 ธ.ค. 2564 320 0

          ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เผย ราคาอสังหาฯ ปี 64 ลงต่ำสุด หวังปีหน้าดีดตัว รับแนวโน้มธุรกิจ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้น หลังผู้ประกอบการเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ” ธปท.” ระบุผ่อนปรนแอลทีวีชั่วคราวหนุนระบายสต็อก  ลุ้นรัฐบาลต่อมาตรการลด ค่าโอนกรรมสิทธิ์-จดจำนอง  3 ล้านบาทแรก  ดึงกำลังซื้อ ด้าน“ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” ชี้โควิดจุดเปลี่ยนเร่งใช้เทคโนโลยี  เจนซี-อัลฟ่า มุ่งสินค้าและบริการตอบโจทย์เพื่อโลกและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น

          ประเทศไทยหลังเปิดเมืองกำลังเดินหน้า เข้าสู่ภาวะฟื้นฟูธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจรอบใหม่จากผลกระทบหนักในช่วงของการแพร่ระบาดรุนแรงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต่างเผชิญห้วงวิกฤติที่เชื่อว่า ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเข้าสู่ภาวะไต่ระดับ ขาขึ้นอีกครั้ง

          นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ วิเคราะห์แนวโน้มและคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยปี 2565 ว่า จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกในช่วงปลายปี 2564 จากการผ่อนคลาย มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด การกระจาย วัคซีนที่ดีขึ้น และสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว คาดว่าจะมีจำนวนอุปทานใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั้งจาก ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีสินค้าอยู่ ในมือ ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ

          ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การผ่อนคลาย มาตรการแอลทีวี และการเปิดประเทศที่นำกำลังซื้อต่างชาติเข้ามาอีกครั้ง โดยระดับราคายังคงมีแนวโน้มขยับขึ้น พร้อมกับการเปิดตัวโครงการใหม่ เนื่องจาก ราคาอสังหาฯ ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในปี 2564 หลังจากที่ผู้ประกอบการจัดแคมเปญ “ลด แลก แจก แถม” และโปรโมชั่นต่างๆ กระตุ้นการตัดสินใจซื้อเพื่อระบาย สต็อกที่มีอยู่  ในปีหน้าอาจมีการลดราคาบาง โครงการ บางทำเล ตามดีมานด์เท่านั้น

          “ปี 2565 จึงเป็นตลาดของผู้ซื้อที่มีความพร้อม และการผ่อนคลายมาตรการแอลทีวี ยังเอื้อต่อกลุ่มผู้ซื้อและนักลงทุน โดยที่อยู่อาศัยแนวราบเช่นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอยู่อาศัย ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และ ความคืบหน้าของเส้นทางรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯและชานเมือง ส่งผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคา อสังหาฯ”

          ลงทุนกระจายรอบนอกกรุงเทพฯ

          นางกมลภัทร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ทำเลอสังหาฯ ที่น่าสนใจกระจายตัวออกไปสู่ พื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น โดยเฉพาะทำเลที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ซึ่งหลายสายจะเปิดให้บริการในปี 2565 ได้แก่ รถไฟฟ้าสาย สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี จะช่วยให้ อสังหาฯ ในทำเลเหล่านี้ ขยายตัวยิ่งขึ้น

          ขณะเดียวกันเทรนด์การพัฒนาอสังหาฯ ของผู้ประกอบการจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น การนำเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมต่างๆ มาใช้ในโครงการเพื่อลดการสัมผัส  รวมถึงการดำเนินธุรกิจอื่นควบคู่กับการพัฒนา ที่อยู่อาศัย เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว

          อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องเผชิญ อาทิ สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ คลี่คลาย ภาวะหนี้ครัวเรือน ความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ สถาบันการเงิน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง

          หวังมาตรการรัฐหนุนฟื้นตัว

          ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือนโยบายภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากภาคอสังหาฯ มีความสำคัญและมีธุรกิจ เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่า 9.8% ของจีดีพี และการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน

          สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.7% จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และตลาดท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน ซึ่งยังต้องติดตามพัฒนาการของการระบาดหลัง การเปิดประเทศ และความต่อเนื่องของ แรงสนับสนุนจากภาครัฐ คาดใช้เวลา 2-3 ปีจะกลับมาฟื้นตัว

          “การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ชะลอการซื้อ ที่อยู่อาศัยแม้จากการสำรวจจะพบว่า 71% ยังสนใจที่จะซื้อบ้าน แต่ชะลอการซื้อออกไปก่อน โดย 39% วางแผนซื้อบ้านภายใน 1-2 ปี อุปสรรคหลักที่มีผลต่อการซื้อบ้าน 66% ขาดรายได้ในช่วงโควิด รองลงมาคือราคาที่อยู่อาศัย 63% และความไม่แน่นอนทางการเมือง 37%”

          “รอ"มาตรการลดค่าธรรมเนียม

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การ ผ่อนคลายมาตรการแอลทีวี ของ ธปท.ชั่วคราวถึงสิ้นปี 2565 เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวผ่านภาค อสังหาฯ จะช่วยให้ผู้ประกอบการ ระบายสต็อกที่มีอยู่ และเติมซัพพลายใหม่  ซึ่งได้ประโยชน์กับซัพพลายเชนในธุรกิจก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และคนซื้อบ้าน ถือว่าเป็นนาทีทองของผู้ที่ต้องการซื้อ ที่อยู่อาศัยไม่ว่าเป็นหลังแรก หลังที่ 2 หรือ 3 เป็นโอกาสที่ดีของคนที่มีกำลังซื้อในช่วงเวลานี้

          “การผ่อนคลายมาตรการแอลทีวี ชั่วคราวยังไม่มีผลที่ชัดเจน เพราะเพิ่งออกมา ได้เดือนกว่า และธปท.เป็นแค่ 1 ใน 4 ของผู้เล่นหลัก เมื่อ ธปท.ผ่อนคลายแล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการทำตลาดแล้ว เหลือรัฐบาลและธนาคาร โดยลดหย่อน ค่าธรรมเนียมการโอนรวมถึงค่าธรรมเนียมการจดจำนองและมาตรการภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง กำลังหมดอายุสิ้นปีนี้ ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯได้ขอให้ภาครัฐ พิจารณาอยู่”

          มาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นการ ตัดสินใจของผู้ซื้อได้ดี ถือเป็นมาตรการที่รัฐไม่ต้องใช้เงิน แม้เสียรายได้ไปบ้าง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะ การต่อมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์- ค่าจดจำนองใน 3 ล้านบาทแรก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้ซื้อที่กำลังซื้อสูงกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสพอสมควรที่ รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวไปถึงปี 2565 แต่ต้องรอแนวทางจากกระทรวงการคลัง

          ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์อยู่โหมด “wait&see” และเข้มงวดเรื่องสินเชื่อ แม้ว่า ธปท.จะดูแลธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่สามารถสั่งธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องกลไกตลาด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ จึงหวังว่าในปี 2565 ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดการ์ดลง ยอมปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ประกอบการที่รัฐบาลมีการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นคนเริ่มมีรายได้มากขึ้น และมีกลุ่มคนต่างชาติเข้ามาสนใจซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยมากขึ้น

          ดึงเทคโนโลยีเสริมแกร่ง

          นางภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต จาก ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย  ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า  ผลจากโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้โครงสร้างสังคมปรับเปลี่ยนกฏระเบียบออกมาเพื่อ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งประชาชนยอมสูญเสียความเป็นส่วนตัวเพื่อให้สังคมดีขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาดูแล ป้องกันการแพร่ระบาดของวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ เช่น การใช้แอพลิเคชั่นในการติดตามตัว

          รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันมลพิษในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สวนกลาง จากเดิมที่ใช้เฉพาะในห้องนอน ห้องเรียน อาทิ หอฟอกอากาศ “ฟ้าใส มินิ” นำหลักการมาจากหอดักจับ มลพิษอุตสาหกรรมแบบเปียก (wet scrubber) เพื่อสร้างต้นแบบหอฟอกอากาศ อัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ทำงานด้วยการนำพลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ กำลังการผลิตพลังงาน ขนาด 800 วัตต์ มาใช้ร่วมกันกับระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วไป เพื่อลดภาระการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน ออกแบบภายใต้แนวคิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางสุขภาวะและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

          นอกจากนี้ ผลจากโควิดทำให้ผู้คน เข้าถึงเทคโนโลยีง่ายขึ้น แม้กระทั้งกลุ่ม ผู้สูงอายุ จากข้อมูลพบว่า แนวโน้มนวัตกรรมไร้สัมผัสต่างๆเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งหุ่นยนต์ที่เข้ามาให้บริการกลุ่ม ผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิมขึ้น 20% ใน 1-2 ปี จากนี้ และในอนาคตกลุ่มคนรุ่นใหม่ เจนซีและเจนอัลฟ่าจะให้ความสำคัญและ ยอมจ่ายเงินกับสินค้าและบริการเพื่อทำให้ชีวิตและโลกดีขึ้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย