โรดแมพสาธารณสุข อีอีซี การแพทย์หนุนพัฒนาเมือง

23 ก.ย. 2564 392 0

          นครินทร์ ศรีเลิศ

          กรุงเทพธุรกิจ


          การพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2565 จะเป็นการวางแผนเพื่อบริการในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นพิเศษ รวมทั้ง ยกระดับบริการทางการแพทย์ปกติและฉุกเฉิน โดยไม่ต้องส่งต่อเข้ากรุงเทพฯ รวมถึง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและระบบรองรับ โรคอุบัติใหม่และโรคจากการประกอบอาชีพ

          สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า อีอีซีเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นหลังจากเจอกับวิกฤติโควิด-19 โดยในอีอีซีเป็นทั้งฐานการผลิตและพื้นที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะมี สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมทั้ง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืบหน้าไปมาก และเป็นปัจจัยบวกการลงทุนในอนาคต

          ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมในพื้นที่อีอีซี ให้มีความพร้อมรองรับนักธุรกิจ นักลงทุน แรงงาน และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังพื้นที่ เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำโรดแมพการพัฒนาสาธารณสุข ในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนด เป็นยุทธศาสตร์เขตสุขภาพพิเศษอีอีซี ที่มี เป้าหมายให้ประชาชนและคนวัยทำงานในพื้นที่ มีสุขภาพที่ดี โรงพยาบาลในพื้นที่มีคุณภาพ นักท่องเที่ยวเข้าถึงบริการสุขภาพ สามารถสร้าง รายได้ให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

          แผนดังกล่าวครอบคลุมถึงการยกระดับ คุณภาพชีวิตประชาชนรองรับการขยายเมือง ในอีอีซี ซึ่งมีการจัดสรรเป็นงบประมาณบูรณาการ ในพื้นที่ปี 2565 มีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่

          1.การยกระดับสาธารณสุขในอีอีซีสู่มาตรฐานสากลและการรักษาการแพทย์เฉพาะทาง รองรับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยยกระดับโรงพยาบาลจังหวัด 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา

          2.การยกระดับศูนย์การแพทย์ครบวงจร ในอีอีซี 2 แห่ง ให้รองรับการรักษาได้ มากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี และ โรงพยาบาลระยอง

          3.การยกระดับคุณภาพโรงพยาบาล รองรับ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลปลวกแดง โรงพยาบาลวังจันทร์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

          4.การพัฒนาระบบการให้บริการ ทางการแพทย์ครบวงจร ในอีอีซีเพื่อรองรับการขยายตัวจำนวน 1 ศูนย์  5.ระบบฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากการทำงานและมลพิษ

          6.การพัฒนาศูนย์นวัตกรรมสาธารณสุข จำนวน 1 แห่ง โดยใช้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เป็นศูนย์กลาง

          7.ประชาชนที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐาน มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 88% ของประชากรในพื้นที่

          8.ยกระดับสภาพแวดล้อมเมืองเดิม เพื่อให้เป็นเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง

          9.การพัฒนาพื้นที่ชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาตามผังเมืองอีอีซี ไม่ต่ำกว่า 6 ชุมชน

          10.ระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนเมืองต้นแบบที่มีประสิทธิภาพอย่างน้อย 1 ระบบ (ขยะ น้ำเสีย อากาศ) และ 11.รายได้เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพได้ต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ในพื้นที่ต้องมีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและบริการรองรับ โรคอุบัติใหม่ และโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ โดยนำระบบแอพพลิเคชั่น เข้ามาใช้ร่วมกับการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพ และมีการรายงานสถานการณ์เพื่อรับมือกับสถานการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

          “ภายในปี 2565 ได้วางเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลในพื้นที่ให้สามารถ รับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่แออัด ซึ่งจะต้อง มีหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ประชาชนที่อยู่ทุกระบบการรักษาสามารถที่จะเข้าสู่ การรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว สามารถรองรับโรคอุบัติใหม่ได้ หลังจากสามารถรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว”

          สำหรับแนวทางการดำเนินการให้แผนงาน ที่เป็นรูปธรรม โดยได้วางเป้าหมายที่จะยกระดับโรงพยาบาลในอีอีซีหลายแห่งให้มีศักยภาพทัดเทียมศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ในเขตกรุงเทพฯ หรือการเพิ่มจำนวนเตียงที่จะรักษาพยาบาลให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ โดย โรงพยาบาลที่จะนำร่องในการขยายเตียงผู้ป่วย ในรูปแบบนี้ คือ โรงพยาบาลปลวกเดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

          ส่วนโรงพยาบาลอื่นภายในพื้นที่จะมีการพัฒนา เพื่อให้มีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลด่านหน้า ได้แก่ โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลบ้านฉาง โรงพยาบาลสัตหีบ กม.10

          โรงพยาบาลที่จะยกระดับให้เทียบเท่าสถาบันบำราศนราดูร ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลสระบุรี ส่วนโรงพยาบาลที่จะยกระดับรองรับโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นต้น

          นอกจากนี้ในอีอีซียังมีโรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์อีกหลายแห่งที่จะส่งเสริม การวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนทางวิชาการให้รองรับการพัฒนาการวิจัยทางการแพทย์ การสร้างความรู้ที่จะรับมือกับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ โดยนำเทคโนโลยีข้อมูลและระบบดิจิทัลมาใช้ โดยใน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งมีศูนย์วิจัยวังจันทร์ของ กลุ่ม ปตท. ที่มีศักยภาพและความพร้อม ในการ รักษาผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น ระบบบล็อกเชน โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อมาอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลในพื้นที่ได้รวดเร็วมากขึ้น

          การวางแผนสาธารณสุขในอีอีซี ยังรวมถึงการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ไปสู่ สถานพยาบาลได้รวดเร็วเพิ่มขึ้น โดยประสาน กับสถานพยาบาลในการใช้เรือและเฮลิคอปเตอร์ในการส่งตัวผู้ป่วย โดยการส่งผู้ป่วยทางเรือได้พัฒนาเรือ Ambulance รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการรับข่าวสารและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วที่สุด



         

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย