รถไฟฟ้าดันราคาที่ดินเปล่าพุ่ง แนวเส้นทางBTSสายสุขุมวิทนำโด่ง

26 ม.ค. 2565 661 0

        ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 339.0 จุด เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แสดงให้เห็นว่าราคายังเพิ่มต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็น ไตรมาสที่ 6 แล้ว นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563

          หากดูค่าเฉลี่ยอัตราขยายตัวย้อนหลังไป 5 ปี (2558-2562) ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นประมาณ 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นประมาณ 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แสดงว่า แม้ราคาที่ดินเปล่าฯ จะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงน่าจะเป็นผลจากปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในปี 2565

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธอส.และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มีข้อสังเกตว่าถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ราคาที่ดินเปล่าฯ ก็ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่สังเกตได้ว่าในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกที่ราคาสูงขึ้น เพราะรถไฟฟ้าหลายสายก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) คืบหน้า 89.5% รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) คืบหน้า 88.7% รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) คืบหน้า 82.0% จะเปิดให้บริการกลางปี 2565 แบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงที่ 1 สถานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ-สถานีมีนบุรี ช่วงที่ 2 สถานีชลประทาน-สถานีแจ้งวัฒนะ 14-สถานี นพรัตนราชธานี และช่วงที่ 3 สถานีแคราย-สถานีศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี อีกหนึ่งปัจจัยเป็นเพราะอุปทานที่ดินที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนามีจำกัด

          ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสนี้ พบว่า 5 อันดับแรก ที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ

          อันดับ 1 ได้แก่ BTS สายสุขุมวิท มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 15.0% พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตจตุจักร บางนา พญาไท และพระโขนง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้น 305.8% หรือเฉลี่ยปีละ 30.6%

          อันดับ 2 ได้แก่ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมมีนบุรี) มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 14.6% พบว่าราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางกะปิ มีนบุรี และสะพานสูง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มถึง 325.6% หรือเฉลี่ยปีละ 32.6%

          อันดับ 3 ได้แก่ สายสีเหลือง (ลาดพร้าวสำโรง) มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 12.7% พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางพลี ประเวศ และเมืองสมุทรปราการ เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้น 273.7% หรือเฉลี่ยปีละ 27.4%

          อันดับ 4 ได้แก่ Airport Link มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 10.8 % พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตดินแดง วังทองหลาง สวนหลวง และห้วยขวาง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 290.2% หรือเฉลี่ยปีละ 29.0%

          อันดับ 5 ได้แก่ MRT ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ทั้ง 2 โครงการ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน เพิ่มขึ้น 10.7% พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่าน ในเขตบางซื่อเพิ่มต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบ ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้า MRT เพิ่มถึง 343.9% หรือเฉลี่ยปีละ 34.4% ส่วนสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) หากเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มถึง 337.0% หรือเฉลี่ยปีละ 33.7%

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย