คลังหั่นจีดีพีปี66เหลือโต3.6%

26 เม.ย. 2566 189 0

 

          ห่วงประชานิยมใช้งบบานชี้กู้ต้องจำเป็น

          “คลัง” หั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 3.6% ส่งออกติดลบ 0.5% เซ่นพิษเศรษฐกิจโลก ฮึมพรรคการเมืองปูดนโยบายใช้เงินมือเติบ หวั่นแหกคอกกู้กลายเป็นภาระลูกหลาน ด้าน สอท.มั่นใจยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ฉลุย 1.95 ล้านคัน

          นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2566 ลงเหลือ 3.6% จากเดิมที่ 3.8% เนื่องจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 0.5% จากเดิมคาดโต 0.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 29.5 ล้านคน

          อย่างไรก็ดี นายพรชัยกล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายหาเสียงและ มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งแรกคือการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 66-70) มีการกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายไว้หมดแล้ว แต่จากข่าวนโยบายพรรคการเมือง มีหลายโครงการซึ่งใช้งบหลายแสนล้านบาท ค่อนข้างจะเกินจากรายจ่ายที่กำหนด ดังนั้น เมื่อรัฐบาลใหม่มีการแถลงนโยบายต่อสภา จะต้องดูว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด และอาจต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่

          นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งมีเพดานอยู่ที่ 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ซึ่งจำนวนเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะกู้ได้ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ในช่วงโควิด-19 มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทา เยียวยาผลกระทบ ดังนั้นการกู้เงินต่างๆ จะต้องดูในเรื่องของผลกลับคืนมาให้กับประเทศ

          “ด้านวินัยการคลังมองว่าถ้ากู้แล้วควรนำมาลงทุนให้เกิดการหมุนเวียนกลับสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจ และวงเงินกู้ที่มีไม่จำเป็นต้องใช้เต็มวงเงิน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระลูกหลาน และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศก็จะมองว่าเราใช้จ่ายไม่สมเหตุสมผล” นายพรชัยกล่าว

          นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค.2566 มีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 179,848 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.16% โดยผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 26.34% และผลิตเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 31.59% โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) 507,787 คัน และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.77% ส่วนยอดขายมี 79,943 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 11.73% และในช่วง 3 เดือนมียอดขาย 217,073 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.11%

          “จากตัวเลขไตรมาสแรก ทำให้มั่นใจว่าน่าจะผลิตได้ตามเป้า 1,950,000 คัน แต่ต้องติดตามปัจจัยลบใหม่เรื่องวิกฤตธนาคารว่าจะเพิ่มขึ้นและทำให้อำนาจซื้อ ของประเทศคู่ค้าลดลงหรือไม่ ส่วนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ปีนี้ก็มั่น ใจว่าจะได้ตามเป้าที่ 1,050,000 คัน” นายสุรพงษ์กล่าว

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย