วัสดุก่อสร้าง-อสังหาฯมุ่ง Net Zero อาคารเขียว-โซลาร์รูฟท็อป คำตอบที่อยู่อาศัยยุคพลังงาน-ไฟฟ้าแพง
อสังหาริมทรัพย์
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี เกิดจากภาวะก๊าซเรือนกระจกที่สะสมมากขึ้น ทาให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน โดยการรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การตื่นตัวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้คนทั่วไป แต่ในกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ได้หันมาให้ความสาคัญกันมากขึ้นทุกวัน
โดยเฉพาะหลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ซึ่งในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ในปี ค.ศ. 2065
การประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลได้ ขับเคลื่อนและผลักดันให้ภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานน้ำมัน และถ่านหินในขั้นตอนการผลิต รวมถึงการหันมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงเพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษและ รักษาสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของภาคธุรกิจพลังงานนั้นกลุ่มบริษัท ปตท.ถือเป็นองค์กรแรกๆ ที่มีการวางกรอบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดรับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ส่วนในภาคธุรกิจวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์นั้นบมจ. SCG ถือว่าเป็นแกนนำในการผลักดันให้บริษัทและผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ 23 องค์กร ก่อตั้งกลุ่ม CECI หรือกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2561 โดยเริ่มต้นจากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารของพันธมิตรองค์กรเอกชนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยบริหารจัดการปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Construction เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและให้ผลตอบแทนทางสังคม ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าผ่านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน ยืดอายุการใช้งาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน RISC กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้างในงานลงนามความร่วมมือ CECI : Action for Sustainable Future เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็น รูปธรรม โดยมี 23 องค์กรธุรกิจร่วมลงนามว่า เป็นครั้งแรกที่เราเคยได้ยินว่าทรัพยากรแร่ธาตุกำลังจะสูญพันธุ์ จากเดิมที่เราเคยได้ยินแต่คำว่าสัตว์กำลังจะสูญพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหตุการณ์นี้กำลังจะเกิดขึ้น จากการเก็บสถิติและคาดการณ์อนาคต พบว่า ณ วันนี้ ปี 2565 โครเมียมหมดไปแล้ว และอีก 70 ปีอะลูมิเนียมซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างจะหมดไป เพราะเราใช้มันเร็วกว่าที่มันจะเกิดขึ้นได้ และมีการรีไซเคิลน้อยกว่าที่ควรจะทำ
”จากจุดนี้เองทำให้เกิดแนวคิดการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือการวนทรัพยากรกลับมาใช้ เพราะไม่สามารถใช้แล้วทิ้งอย่างฟุ่มเฟือยเช่นอดีตที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันเรามาถึงจุดที่เราจะใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยไม่ได้อีกแล้ว เพราะเมื่อทรัพยากรแร่ธาตุเหล่านี้หมดแล้วหมดเลย และถ้าไม่มีการรีไซเคิลหรือนำทรัพยากรเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่อีก 50-70 ปี จะไม่มีทรัพยากรให้เราใช้กันอีก”
ทั้งนี้ จากสถิติที่ผ่านมาทรัพยากรแร่ธาตุที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น กลุ่มทรัพยากรแร่ธาตุที่ใช้ผลิตวัสดุก่อสร้าง หรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นกลุ่มที่ถูกใช้งานมากที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ภาวะใดก็ตาม ทำให้โอกาสในการหมดไปของทรัพยากรแร่ธาตุเหล่านี้จะหมดไปเร็วกว่าทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งนี่ทำให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
”คาดการณ์การใช้ทรัพยากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างในอีก 50 ปีข้างหน้า พบว่าทรัพยากรในกลุ่มอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การก่อสร้างจะมีอัตราการขยายตัวที่เร็ว มากๆ เมื่อเทียบกับทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรในอุตสาหกรรมอาหาร น้ำมัน ที่มีการบริโภคกันในทุกๆ วัน แต่ก็ยังมีสัดส่วนปริมาณการใช้งานน้อยกว่าอุตสาหกรรมก่อสร้าง”
นอกจากการใช้ทรัพยากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีจำนวนมากแล้ว ปริมาณขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ถูกทิ้งไปยังมีจำนวนมากที่สุดด้วย โดยมี ปริมาณ 30-40% ของขยะรวม หรือ 1 ใน 3 ของขยะในโลก ทั้งนี้ในหลุมขยะหรือใต้เมืองขนาดใหญ่ต่างๆ ในโลก และคาดว่าจำนวนขยะก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Circular Economy in Construction Industry) หรือ CECI จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาการสูญสิ้นไปของทรัพยากรโลกในอนาคต
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. SCG กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญวิกฤตอากาศแปรปรวนจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศา ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลนด้วยจำนวนประชากรที่จะเพิ่มสูงขึ้น 9.6 พันล้านคน และปัญหาปริมาณขยะล้นโลก ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกู้วิกฤตโลก โดยใช้ ESG ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติและโมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)
”วันนี้ SCG ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จึงได้ยกระดับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส”
ทั้งนี้ ในการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจของ SCG ในปี 2565 นี้ SCG จึงเน้นกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างโดยนำ 3 กลยุทธ์ Green Construction, Living Smart at Home และ Change of Retail Experience เดินหน้าประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนำเสนอนวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชัน ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า และเทรนด์การอยู่อาศัย-ก่อสร้าง เพื่อ เติมเต็มประสบการณ์ให้ลูกค้าด้วยการเชื่อมโยงทุก ช่องทางการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้แก่ลูกค้า
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง กำลังตื่นตัวผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เอง ผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็หันมาให้ความสำคัญในการ ผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในโครงการจัดสรรและคอนโดมิเนียมมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยการนำพลังงานทางเลือกเข้ามาใช้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและอาคารชุดพักอาศัย โดยเฉพาะการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือหลังคาโซลาร์เซลล์ โดยการนำแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งไว้บนหลังคาอาคารที่อยู่อาศัย เพื่อทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้งานในระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร
ปัจจุบันการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์บนอาคารทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดพักอาศัยมีต้นทุนที่ ถูกลง เมื่อเทียบกับ 10 ปี ก่อนหน้านี้ โดยมีการพัฒนารูปแบบของระบบออกเป็น 3 ระบบคือ ระบบที่ต่อเข้ากับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า หรือเรียกว่า ออนกริด (On Grid) ระบบการใช้งานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง เก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ที่เรียกว่า ออฟกริด (Off grid) และระบบไฮบริด (Hybrid) ใน รูปแบบที่ผสมผสานระหว่าง On Grid กับ Off Grid เข้าด้วยกัน ทั้ง 3 ระบบมีต้นทุนค่าติดตั้งในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 169,000 บาท
สำหรับบริษัทอสังหาฯ รายแรกๆ ที่ผลักดันให้ เปิดการใช้พลังงานทดแทนในโครงการคอนโดฯ และ หมู่บ้านจัดสรร คือ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ซึ่งได้ก่อตั้งบริษัท เอท โซลาร์ จำกัด ขึ้นในปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) โดยมีเป้าหมายการเติบโตรายได้เฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งปี 2564 เสนาฯ วางกำลังผลิตติดตั้งรวม ไม่ต่ำกว่า 5 เมกะวัตต์ โดยเน้นการติดตั้งที่มีคุณภาพและคัดเลือกโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ครอบคลุมทั้งโครงการบ้านของเสนาฯ และภาคธุรกิจอื่นๆเช่น ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีก ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมัน และโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ และพร้อมสำหรับธุรกิจการให้คำปรึกษาและบำรุงรักษา ทำความสะอาดระบบโซลาร์ในโครงการต่างๆ
”ในปี 2565 นี้ เสนาฯ จะผลักดันให้มีการใช้ โซลาร์รูฟท็อปในโครงการใหม่ของเสนาฯ ทุกโครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของปีนี้ โดยเฉพาะ ในโครงการที่อยู่อาศัยแนวรบ ซึ่งจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาให้กับลูกค้าในทุกโครงการ” ดร.เกษราธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาฯ กล่าว ก่อนหน้านี้ บมจ.ออริจิ้น ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นอีกรายที่จับมือกับพันธมิตรร่วมทุนก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ภายใต้ชื่อ บริษัท ออริจิ้น กันกุลเอ็นเนอร์ยี จำกัด เพื่อร่วมกันดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาดในโครงการที่อยู่อาศัย ล่าสุดบริษัทได้วางแผน 3 ปี (65-67) ในการผลักดันให้เกิดหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ วิลเลจ) ในกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรรภายใต้บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI บริษัทในเครือ ซึ่งพัฒนาบ้านจัดสรร โดยเฉพาะในโครงการบ้านเดี่ยวแบรนด์ แกรนด์ บริทาเนีย
นอกจากนี้ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค คือ บริษัทอสังหาฯ ที่รุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด โดยร่วมกับบริษัทเอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด เพื่อขยายตลาดโซลาร์รูฟท็อป ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา และร่วมมือกับบริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด ในการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน โดยเริ่มจากการติดตั้งให้กับบ้านเดี่ยวสร้างใหม่ ในโครงการระดับไฮเอนด์แบรนด์ “เพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ และ เลค เลเจ้นด์” ซึ่งวางเป้าหมายขยายไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไป ครอบคลุมทั้งโครงการบ้านของ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค รวมถึงชุมชนบริเวณใกล้เคียง และธุรกิจในกลุ่มบริษัท ทั้ง โรงแรม คอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนพลังงานสะอาด โดยวางเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวน 30,000 หลังและ 50,000 หลังสำหรับติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ SCG คือรายล่าสุด ที่ขยายธุรกิจเข้าตลาดพลังงานทดแทน หลังจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้ชีวิตภายในบ้านมากขึ้น รวมถึงการ Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และมลพิษฝุ่น PM 2.5 ทำให้มีการใช้ไฟ-เปิดแอร์ช่วงกลางวันมากขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 30-50% เจ้าของบ้านจึงมองหาโซลูชันที่ช่วยลดรายจ่ายเรื่องค่าไฟโดยเฉพาะการติดโซลาร์รูฟ
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดโซลาร์ทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมถึงในประเทศไทยตลาดโซลาร์ก็มีการเติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน มีมูลค่าตลาดสูงถึง 8,200 ล้านบาท จากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปโซลาร์รูฟจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจในระบบโซลาร์ของลูกค้ายังมีไม่มาก เช่น การติดตั้งที่ได้มาตรฐาน, มาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบ รวมถึงการขออนุญาตกับภาครัฐ ทางเอสซีจี โซลาร์รูฟ โซลูชั่น จึงพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร โดยเรามีการผลักดันช่องทางการขายแบบ Omni-Channel และทำการตลาดผ่าน Digital Marketing อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปีที่ผ่านมายอดขายของเอสซีจี โซลาร์รูฟ โซลูชั่น เติบโตเกือบ 200%”
นอกจากการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงาน ทดแทนในโครงการจัดสรร และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ภาครัฐเองยังพยายามผลักดันให้ ธุรกิจอสังหาฯ ปรับตัวก้าวสู่ยุคการสร้างนวัตกรรมรองรับการประหยัดพลังงาน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้การลดใช้พลังงานเป็นวาระสำคัญของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกัน พพ.ได้เจรจากับธนาคารพาณิชย์เช่น ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ ทาง พพ.เตรียมที่จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ ในการขอจัดสรรวงเงินในกรอบของพระราชบัญญัติในแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อที่จะนำมา กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งวงเงินดังกล่าวมีส่วนมาสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พลังงานทดแทน โดย ธปท.จะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการ เงินทุนไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ในช่วง 2 ปีแรก และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีถัดๆไปแต่ไม่เกิน 5%
กระแสการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ Net Zero ในปัจจุบันทำให้ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐหันมาร่วมกันขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ซึ่งมีผลต่อต้นทุนพลังงานในตลาดโลกและการปรับตัวของเงินเฟ้อ จากการปรับตัวของต้นทุนพลังงาน ประกอบกับภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งในปัจจุบันประชาชนรับรู้และสัมผัสได้แล้วว่าปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว อีกต่อไป แนวโน้มดังกล่าวทำให้จากนี้ไปจะเริ่มเห็นว่า ในโครงการจัดสรรและคอนโดฯ เกิดใหม่มีการติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาบ้านและอาคารสูงเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันอาคารใหม่ๆ จะถูกออกแบบเป็นอาคารเขียวหรือ Green Building มากขึ้น
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา