คลังเดินต่อฟื้นเศรษฐกิจรื้อใหญ่เกณฑ์ซอฟต์โลน
“คลัง” ถกแบงก์ชาติ ปรับเกณฑ์ซอฟต์โลนที่ค้างท่ออีก 3 แสนล้านบาท พร้อมเปิดโอกาสให้รายใหญ่ เข้าถึงเงินกู้ด้วย ส่วนโครงการโกดังพักหนี้ขีดเส้นอีก 2 เดือนชัดเจน พร้อมหารือกระทรวงการท่องเที่ยวฯหามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิ ฐรมว.คลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด 2564” ว่า ได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อปรับเกณฑ์การใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)ที่เหลือมากกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อให้เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้โดยจะแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะยังคงเป็นรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ปรับเงื่อนไขใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมกำหนดให้เฉพาะเอสเอ็มอีเท่านั้น ปรับเพิ่มเป็นให้ธุรกิจรายใหญ่สามารถเข้ามายื่นขอกู้ได้ รวมถึงจะมีการขยายวงเงินกู้ต่อรายจากเดิม 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 2% เปลี่ยนเป็นตั้งแต่ 2% ขึ้นไป เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้น
ส่วนที่สองจะนำมาจัดทำโครงการโกดังพักหนี้(Asset Ware Housing)เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ให้สามารถนำทรัพย์สินมาขายฝากกับสถาบันการเงินได้และในระหว่างนั้น สามารถจ่ายค่าเช่ากับธนาคารสามารถประกอบกิจการต่อไปและเมื่อระยะเวลาหนึ่งสามารถกลับมาซื้อคืนได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยรัฐบาลพร้อมจะแก้ไขกฎระเบียบและเรื่องการยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยกรณีธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้บริหารจัดการเอง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้
”การปรับปรุง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนนี้ต้องมีการจัดทำเป็น พ.ร.ก.ฉบับใหม่ขึ้นใช้ทดแทนฉบับเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเงื่อนไขรายละเอียดกับแบงก์ชาติ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะแบ่งวงเงินการใช้จำนวนเท่าใดส่วนเรื่องโครงการโกดังพักหนี้ เท่าที่ทราบแบงก์ชาติกำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกำหนดกติกา การตีมูลค่าทรัพย์สิน”
นายอาคมกล่าวว่าในเร็วๆนี้จะหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อหาแนวทางการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยได้ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้หลังเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ จากเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทย 8 ล้านคน แต่ต่อมาปรับลงอีกเหลือ 5 ล้านคน ล่าสุดก็ไม่รู้จะเหลือจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าใดดังนั้นจึงต้องพึ่งพาตัวเองด้วยการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหลายฝ่ายประมาณการว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนเดิมในปี 2566-2567
”ขณะนี้ได้หารือหลายประเทศเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอาจผ่อนปรนระยะเวลาการกักตัวเพื่อดึงดูดให้ต่างชาติมาเที่ยวไทยอย่างไรก็ตาม ปีนี้ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักมาตรการต่างๆต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ 2.8%”
Reference: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ