ยอดปรับโครงสร้างหนี้ส่อทะลัก

30 มี.ค. 2563 670 0

          หลัง‘ปิดเมือง-ห้าง’/ธปท.ผนึกแบงก์รับมือ"ธปท.-แบงก์” ผนึกกำลังช่วยลูกค้าปรับ โครงสร้างหนี้ เตรียมพร้อมรับมือ ลูกหนี้ทะลักเข้ามาขอปรับโครงสร้าง เพิ่มอีก หลังรัฐ “ปิดเมือง-ห้าง” รวมถึง ธปท.ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ 6 ประเภท สินเชื่อเพิ่มเติม เผยล่าสุดลูกหนี้ ขอปรับโครงสร้างแล้วกว่า 1.5 แสนราย มูลหนี้ทะลุ 3 แสนล้านบาท “กสิกรไทย” ปรับ “คอลเซ็นเตอร์-RM” ช่วยลูกค้าเชิงรุก ฟาก “ไทยพาณิชย์-ทีเอ็มบีกรุงไทย” เร่งช่วยลูกค้าเต็มที่

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าแนวทางการปฏิบัติเพื่อ ช่วยเหลือลูกหนี้ธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่าน การปรับโครงสร้างหนี้ ล่าสุดมีลูกหนี้เข้ามาขอปรับโครงสร้าง เพิ่มขึ้นเป็น 1.56 แสนราย มูลหนี้ 3.10 แสนล้านบาท จากที่ช่วง 2 สัปดาห์แรกที่มีเข้ามาแค่ 3 หมื่นราย มูลหนี้ 2.34 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท.ได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม 6 ประเภท สินเชื่อ (ดูตาราง) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เริ่ม 1 เม.ย.นี้

          นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกค้าไปแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจขนาดใหญ่ 200 ราย วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เอสเอ็มอี 450 ราย วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท และ รายย่อย 9 หมื่นราย วงเงินราว 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโรงแรมและท่องเที่ยว ส่วนมาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้ 6 ประเภทสินเชื่อเพิ่มเติม ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์ช่วยเหลือขั้นต่ำนั้น เป็นการสร้างความชัดเจนให้มาตรการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นมาตรฐานกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละธนาคารจะมี มาตรการช่วยเหลือแตกต่างกันไป เชื่อว่าภายหลังมาตรการขั้นต่ำออกมา จะมีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งธนาคารได้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผ่าน call center ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยธนาคารจะเร่งช่วยลูกค้าให้เร็วที่สุด

          “ตอนนี้หนี้เสียที่เกิดขึ้น เป็นหนี้เชิงระบบที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งทุกวันเราพยายามเร่งช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มากที่สุด และคาดว่าหลังมีแนวทาง 6 มาตรการขั้นต่ำ ที่เป็นการสื่อสารถึงลูกค้าในวงกว้าง จะทำให้ลูกค้าเข้ามาเพิ่มอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ เราไม่ได้มีเพดานว่าจะช่วยเหลือลูกค้าได้แค่ไหน แต่พยายามช่วยทุกรายที่เข้ามา”

          นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความ คืบหน้าการช่วยเหลือลูกค้า ผ่านมาตรการ ต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ย จนถึง ณ วันที่ 20 มี.ค. 63 พบว่า มีลูกค้าของธนาคารได้รับ ความช่วยเหลือแล้ว 2.4 หมื่นราย วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มลูกค้ารายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี

          อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทางการมีมาตรการปิดพื้นที่บางส่วน ธนาคารคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เช่น ผู้ทำอาชีพอิสระ กลุ่มที่อิงรายได้จากค่าคอมมิสชั่น ลูกจ้าง รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็ก

          นายสุรัตน์กล่าวว่า เพื่อเป็นการ ช่วยเหลือลูกค้าและลูกหนี้เชิงรุก ธนาคารได้แบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ 1.คอลเซ็นเตอร์ โดยลูกค้าสามารถโทร.ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือได้ตลอด ซึ่งพนักงานสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ผ่านมาตรการที่มีอยู่ได้ทันที เช่น การยืดเทอมการชำระหนี้ จ่ายดอกเบี้ยพัก เงินต้น เป็นต้น เพื่อให้ภาระหนี้ลูกค้าได้รับ การแก้ไขและช่วยเหลือได้ทันท่วงที

          และ 2.พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (relationship management : RM) จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยการลงพื้นที่เพื่อสำรวจลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะให้ความช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือ หรือลูกค้าที่มีความต้องการสินเชื่อเสริม สภาพคล่อง ซึ่งทีมงาน RM จะเสนอวงเงิน เพิ่มเติมให้ลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น

          “ตอนนี้การช่วยเหลือและแก้ไขหนี้ ถือว่าเราช่วยเหลือลูกค้าได้พอสมควร เพราะเราทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่หากเป็นจำนวนรายเยอะ ๆ จะเป็นลูกค้ารายย่อย บัตรเครดิต แต่หากคิดเป็นเม็ดเงินที่สูงจะเป็นกลุ่ม เอสเอ็มอี โดยเราคาดว่าน่าจะมีหนี้ทะลักเข้ามาอีกระลอก เพราะตอนนี้ปัญหา ค่อนข้างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็พร้อมช่วยเหลือลูกค้ากันไป” นายสุรัตน์กล่าว

          นายปิติ ตัณฑเกษม ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารเข้าไปช่วยเหลือและลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้แล้วมากพอสมควร อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันลูกหนี้บางรายที่ไม่ได้มีปัญหาจริง หรือบางกลุ่มที่อาศัยจังหวะนี้ในการเข้ากระบวนการ หรือแกล้งล้ม ธนาคารจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่มีความเข้มงวดเช่นเดียวกัน

          นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับ ผลกระทบเชิงรุกมากขึ้น ธนาคารได้จัดทีมพนักงานลงพื้นที่สำรวจผลกระทบ โดยเฉพาะลูกค้าในอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะพบว่ามีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากจะอยู่ใน 8 จังหวัด ดังนั้น ธนาคารจึงให้พนักงานเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด

          นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายย่อยและลูกค้าธุรกิจไปแล้วกว่า 1,500 ราย วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างช่วยเหลืออีกกว่า 7 หมื่นราย วงเงินราว 2.5 แสนล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 2.8 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ออกมาตรการเสริมเพื่อเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าทุกรายที่ได้รับผลกระทบ และลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25%,  MRR ลง 0.125%

          “ลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อบุคคล Smart Money และสินเชื่ออเนกประสงค์ 5 Plus ธนาคารเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ 3 เดือน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  ไม่เกิน 3 ล้านบาท พักชำระเงินต้น 3 เดือน ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจไม่เกิน 20 ล้านบาท พักเงินต้น 3 เดือน ส่วนลูกค้าที่มีรายได้ลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย พักเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ พักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อ Trade Finance ออกไปอีก 6 เดือน” นายผยงกล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย