พีระพงศ์ นั่งนายก ส.อาคารชุดฯ เข็น 3 ภารกิจใหญ่พลิกฟื้นตลาดคอนโดฯ

28 เม.ย. 2565 496 0

          ‘คอลลิเออร์สฯ’ ชี้ปัจจัยบวกเปิด ปท. กระตุ้นอสังหาฯเมืองชายทะเลคึกคัก

          อสังหาริมทรัพย์

          เข้าสู่บริบทใหม่ของสมาคมอาคารชุดไทย ท่ามกลางตลาดคอนโดมิเนียมที่กำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะค่อยๆ “ฟื้นตัว” อีกครั้ง หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดฯชะลอตัวลงอย่างหนัก เนื่องจาก ตลาดนักลงทุนและกลุ่มนักเก็งกำไร ลดหายไปจากตลาดอย่างรวดเร็ว เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV Effect) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 และถูกซ้าเติมด้วย ‘สึนามิโควิด’ มาถึง 2 ปี และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกำลังซื้อในภาคที่อยู่อาศัย

          ล่าสุด ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ของสมาคมอาคารชุดไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการเลือก นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI บริษัทอสังหาฯที่มีการเติบโตอย่างมากอีกบริษัทหนึ่ง ที่กำลังสร้างออริจิ้นฯให้เติบโตแบบพหุจักรวาลสู่ “อาณาจักรแสนล้าน” ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอาคารชุดไทย คนที่ 12

          นโยบายเร่งด่วนขับเคลื่อน ตลาดคอนโดฯ เติบโต

          นายพีระพงศ์ เปิดเผยหลังจากได้รับหน้าที่ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ว่า จะสานต่อนโยบายเดิมจาก ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ อดีตนายกสมาคมฯ เนื่องจากในช่วงที่เกิดวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลาดคอนโดฯได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผมมีทิศทางที่จะพยายามทำให้ตลาดฟื้นตัวเหมือนเช่นในช่วงปี 2560-2561 (ช่วงที่ตลาดคอนโดฯมีการเติบโตสูงที่สุด) เพราะกำลังซื้อคนไทยและต่างชาติ ยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไทยอย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการทำใน 3 ประเด็นหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่

          ประการแรก การไปขอความร่วมมือกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ช่วยผ่อนปรนกฎเกณฑ์ ผ่อนคลายเครดิตการกู้ยืมสินเชื่อสำหรับกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวยังมีเครดิตและมีความสามารถในการเข้าถึง สินเชื่อได้ง่าย

          ผนึก สปส. เปิดวงเงิน ปล่อยกู้ ‘ที่อยู่อาศัยหลังแรก’ รับ เรียลดีมานด์ ราคาไม่เกิน 5 ลบ.

          ประการที่สอง การสร้างความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการให้สปส.จัดแคมเปญสนับสนุน “ที่อยู่อาศัยหลังแรก“กับผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคมของ สปส. โดยนโยบายจะคล้ายกับ “รถยนต์คันแรก” สำหรับบ้านจัดสรร-คอนโดฯ ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินจากกองทุน สปส. มาจัดสรรในโครงการดังกล่าว

          อนึ่ง สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุถึงผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนในปี 2564 กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนรวม 2,282,490 ล้านบาท โดยกองทุนประกันสังคม ในปีที่ผ่านมา มีผลตอบแทนจำนวน 62,927 ล้านบาท

          และประการที่สาม กระตุ้นตลาดต่างประเทศ ในเรื่อง Permanent Residenc Visa หรือ (Green Card) ให้สิทธิ์การพักอาศัยระยะยาว 10 ปี คล้ายประเทศมาเลเซีย ทดแทน Elite Card เพื่อจูงใจให้ลูกค้าชาวต่างชาติ มาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ตลาด คอนโดฯกลับมาคึกคักอีกครั้ง

          “ช่วงที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เจรจากับทางภาครัฐ ด้วยการเดินหน้ารวมหนี้ นำสินเชื่อระยะสั้นทั้งบ้านและรถ มารวมกัน เพื่อให้ดอกเบี้ยของผู้กู้ถูกลงและเข้าถึงการ มีบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราจะต่อยอดจากนโยบายเดิมของ ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมฯท่านที่ผ่านมา และต้องขอบคุณท่าน ที่ช่วยผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสมาคมฯมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19”

          ต้องจัดให้ได้ งาน ‘มหกรรมบ้านและคอนโด’ ช่วยผู้ประกอบการระบายสต๊อก

          นายพีระพงศ์ กล่าวว่า งานแรกของสมาคมฯ ที่จะให้เกิดขึ้น คือ การเดินหน้าจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42” ให้ได้ในปี 2565 ต้องจัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือ QSNCC เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกที่เหลืออยู่ได้ และยังเป็นการช่วยให้ “ผู้ซื้อ"ที่ต้องการที่อยู่อาศัย สามารถรีบตัดสินใจซื้อได้ในปีนี้ เนื่องจากยังหาซื้อได้ในราคาที่ถูก ในสถานการณ์ที่ต้นทุนก่อสร้างพุ่งขึ้นสูงไปถึง 15% ดังนั้น หากลูกค้า ที่สนใจซื้อบ้าน “ควรรีบซื้อ” ก่อนที่จะมีการ “ปรับขึ้นในปีหน้า”

          สำหรับทิศทางของตลาดคอนโดฯในช่วง 8-9 เดือนของปีนี้ นายพีระพงศ์ กล่าวเชื่อว่า จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพฤติกรรมของผู้ซื้อต้องการตัวเลือกของคอนโดฯ ที่มีห้องขนาดใหญ่ในทำเลรถไฟฟ้าสายใหม่ประมาณ 50-60 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถมีสินค้าที่ทดแทนแนวราบชานเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานในรูปแบบ Work From Home ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีวิธีในการปรับตัวและทำราคาขายประมาณ 70,000-80,000 บาทต่อตาราเมตร เพื่อดึงดูดความสนใจ

          ท้ายที่สุด ใกล้ที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) สิ่งที่เราอยากเห็นจากคนใหม่นั้น คือ ให้ปรับปรุงทัศนียภาพ กทม.ทั้งหมด โดยเฉพาะทางเท้า ปรับปรุงคุณภาพชีวิตคน กทม.ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ มากขึ้น และเรื่องการบูรณาการในการประสานงานกับหน่วยงานในสังกัด กทม.ลงได้ จะมีผลให้ต้นทุนพัฒนาโครงการลดลงได้ในแต่ละปี

          คาดทั้งปี 65 คอนโดฯ เปิดขายใหม่ สูงสุดรอบ 2 ป

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมตลาดคอนโดฯในกรุงเทพฯ ในปี 2565 กลับมาเปิดโครงการมากขึ้น คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีอุปทานเปิดขายใหม่ รวมระหว่าง 32,000-35,000 หน่วย มากขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2564)

          สำหรับสถานการณ์ตลาดคอนโดฯสิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยฯ พบว่า ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งในส่วนของอุปทานเปิดขายใหม่และในฝั่งของผู้ซื้อ ซึ่งมีโครงการคอนโดฯเปิดขายใหม่ 16 โครงการ 14,088 ยูนิต มูลค่าการลงทุนกว่า 34,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 9,960 ยูนิต หรือ คิดเป็นร้อยละ  241.3 และพบว่าจากอุปทานที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด ยังคงเป็นการพัฒนาโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดถึง 8,022 ยูนิต คิดเป็น ร้อยละ 56.9 มูลค่าลงทุน 24,593 ล้านบาท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 6,066 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 43.1 มูลค่าลงทุน 10,043 ล้านบาท

          โดยผู้พัฒนาส่วนใหญ่ เริ่มทยอยเปิดตัวตั้งแต่ เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เช่น บมจ. โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ เปิดขายคอนโดฯ 4 โครงการ จำนวนกว่า 3,394 ยูนิต และพบว่าบางโครงการปิดการขายไปกว่าร้อยละ 70 ในช่วงของการพรีเซลเท่านั้น

          นอกจากนี้ พบว่ามีโครงการขนาดใหญ่ในโครงการ ‘บ้านล้านหลัง’ ที่เปิดขายมากกว่า 5,000 ยูนิต จากโครงการรีเจ้นท์ โฮม บางนา โดย บจ รีเจนท์ กรีน เพาเวอร์ สามารถปิดการขายไปกว่าร้อยละ 90 ในช่วงของการเปิดขายอย่างเป็นทางการ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้ามองโครงการ ที่ “ยังสามารถทำกำไรต่อได้” หรือ  “มีโอกาสสร้างรายได้จากการปล่อยเช่า” และพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บางส่วน ยังคง “มีการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ในทำเลที่มั่นใจในกำลังซื้อ หรือ ทำเลที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจน” เช่น โรงพยาบาลชั้นนำ หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

          เปิดโลเกชันดี ราคาจูงใจ กระตุ้นยอดขาย

          “แต่ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ ค่อนข้างระมัดระวังในการกำหนดราคาขายเป็นอย่างมาก เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อในตอนนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ผู้พัฒนาจะต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนราคาค่าวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากโครงการคอนโดฯโครงการใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถปรับราคาขายเพิ่มขึ้นจากเดิมได้มากนัก อาทิเช่น โครงการนิว โนเบิล อีโว อารีย์ ใกล้ BTS อารีย์เพียง 300 เมตร กำหนดราคาขาย 1.3-1.5 แสนบาทต่อตร.ม.เป็นราคาย้อนหลังไป 7-8 ปี แต่ก็มีบางผู้ประกอบการไปลงทุนในเซกเตอร์อื่นชดเชย เช่น โครงการบ้านแนวราบที่สามารถขยับราคาขายได้ มีแนวโน้มเติบโตอีกหลายปี”

          สาย ‘สีส้ม-สีเหลือง-สีชมพู’ ทำเลฮอต

          นายภัทรชัย ฉายภาพทำเลที่มีอุปทานคอนโดฯโครงการใหม่ไปเปิดการขาย ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ พบว่า จะอยู่ชั้นนอกมากที่สุดจำนวน 10 โครงการ 5,732 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 40.7 และตามมาด้วยในพื้นที่บริเวณรอบเมืองด้านทิศตะวันออก (สุขุมวิท, บางนา) จำนวน 1 โครงการ ประมาณ 5,007 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 35.5 และพบว่าโครงการคอนโดฯที่เปิดขายใหม่ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในช่วงระดับราคาต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตร.ม.มากถึงร้อยละ 69.5 เหมือนในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้พัฒนายังคง เดินหน้าเลือกเปิดตัวโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกที่มั่นใจในกำลังซื้อและมีระดับราคาขายต่อยูนิตไม่สูง มากนัก เพื่อกำลังซื้อสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อที่จะสามารถปิดการขายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

          “ในปี 65 ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เลือกที่จะพัฒนา คอนโดฯในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอก หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะช่วงรามคำแหงลำสาลี มีนบุรี และรถไฟฟ้าที่จะแล้วเสร็จในปีนี้ มี 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา และในพื้นที่ทำเล เกษตร- นวมินทร์ รามคำแหง สุขุมวิท เป็นต้น”

          ยอดขายคอนโดฯ สูงสุด ในรอบ 13 ไตรมาส

          นายภัทรชัย กล่าวถึงแนวโน้มอัตราการขายในไตรมาสถัดไปว่า พบว่า อัตราขายเฉลี่ยรวมของคอนโดฯเปิดใหม่ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สูงที่สุดในรอบ 13 ไตรมาสที่ผ่านมา ขายเฉลี่ยร้อยละ 62.0 เนื่องจากมีโครงการบางคอนโดฯขนาดใหญ่ในพื้นที่เมืองชั้นในและในพื้นที่นอกเมืองด้านทิศตะวันออก สามารถปิดการขายไปกว่า 70% ในช่วงของการพรีเซลเท่านั้น เนื่องจากระดับราคาที่น่าสนใจ ส่งผลให้ลูกค้าที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัย และกลุ่มนักลงทุน ให้ความสนใจเข้าซื้อเป็นจำนวนมาก มองโอกาสที่สามารถทำกำไรต่อได้ในอนาคต

          “อัตราการขายที่ดีขึ้น มาจากการผ่อนปรน มาตรการ LTV บวกกับการเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อ เริ่มกลับมาให้ความสนใจตลาดคอนโดฯอีกครั้ง ซึ่งผู้พัฒนามองว่า เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะกลับมาเปิดโครงการใหม่ตามแผนในปีนี้” ฝ่ายวิจัยฯ คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มอง

          เปิด ปท.ปลุกคอนโดฯ เมืองท่องเที่ยวคึกคัก คาดภูเก็ต-หัวหิน-พัทยา ดีกว่าช่วง 2 ปี

          สำหรับในช่วงไตรมาสที่  2 ของปี พ.ศ. 2565  ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะมีอุปทานคอนโดฯเปิดขายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกมากกว่า 6,000 ยูนิต ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานเปิดขายใหม่ของตลาดคอนโดฯในพื้นที่กรุงเทพฯในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปรับตัวมาอยู่ที่มากกว่า 20,000 ยูนิต อีกครั้ง และส่วนใหญ่ยังคงกระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอบใจกลางเมืองและพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ในระดับราคาขายที่ ไม่สูงมาก โดยเฉพาะในช่วงระดับราคา 50,000-100,000 บาทต่อ ตร.ม. หรือในทำเลรอบใจกลางเมืองที่เน้นเรื่องราคา การออกแบบและทำเลเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ

          ซึ่งฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทยมองว่าตลาดคอนโดฯในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญในปีนี้ จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งเราเห็นแบรนด์ใหญ่อย่างบริษัท แสนสิริฯ กลับไปทำตลาดคอนโดฯที่หัวหินอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดเมืองท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา ขณะที่ยอดขายของค่ายออริจิ้น และ ศุภาลัยในโซนจังหวัดระยอง ก็ขายได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ เราเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ไตรมาสแรก เป็นนิมิตหมายที่ดี ส่งผลให้เมือง ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต หัวหิน พัทยา ดีกว่า 2 ปี ที่ผ่านมา

          สต๊อกอสังหาฯคิวแรกขยับขึ้น 2.8%

          ผลเร่งเปิดโปรเจกต์ใหม่หลังอั้นมา 2 ปี

          “ลุมพินี วิสดอม” ระบุตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสแรกปี 2565 มีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 หลังอั้นเปิดโครงการมา 2 ปีเต็ม ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5%

          นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัท วิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงรายงานผลการวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกปี 2565 ว่า มีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สะสมเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 ทั้งสิ้น 23,203 หน่วย เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 และ มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 80,574 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2564

          แบ่งเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียม จำนวน 19 โครงการ จำนวน 15,236 หน่วยเพิ่มขึ้น 211% คิดเป็น 66% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ คิดเป็นมูลค่า รวม 43,096 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปี 2564 มีโครงการเปิดตัวใหม่ที่มีมูลค่าสูงอย่าง The Forestias By MQDC โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ย 36%

          ในขณะที่มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัย จำนวน 47 โครงการ จำนวน 7,967 หน่วย เพิ่มขึ้น 66% คิดเป็น มูลค่า 37,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2564 โดยมีอัตราขาย ณ วันเปิดตัวโครงการ เฉลี่ย 15%

          การเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยที่ได้รับความนิยม เป็นโครงการ ทาวน์เฮาส์ ช่วงราคา 2-5 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวและหน่วยขายได้สูงที่สุดของบ้านพักอาศัยทุกประเภท โดยอัตราขายเฉลี่ย 14% ในทุกทำเลรอบตัวเมืองกรุงเทพฯ อย่างเช่น ทำเลบางนา-สุวรรณภูมิ / รังสิต ลำลูกกา / รัตนาธิเบศร์-ราชพฤกษ์ บ้านเดี่ยวเปิดใหม่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท อัตราขายเฉลี่ย 13% ในทำเลรัตนาธิเบศร์- ราชพฤกษ์ / บางนา-สุวรรณภูมิ และเพชรเกษม-พุทธมณฑล

          ขณะที่ หน่วยคงค้างของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาสแรกปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 64 ผลจากการเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ที่ถูกชะลอมาตั้งแต่ ปี 63

          จากผลการวิจัยพบว่า ราคาที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกปี 2565 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ผลจากต้นทุนที่ดิน ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และพลังงานมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนค่าก่อสร้างทำให้ราคาที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวและก่อสร้างในไตรมาสแรกปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น .

          ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

          ‘ราคาที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ผลจากต้นทุนที่ดิน ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และพลังงานมีการปรับตัวสูงขึ้น’

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย